วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

ชาวสุราษฎร์ฯ กว่า 300 เตรียมยื่นศาลปกครอง อุทยานใต้ร่มเย็นประกาศทับที่ทำกิน




ชาวบ้านกว่า 300 ครัวเรือนในอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมตัวเตรียมพร้อมยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนที่ดินทำกินจำนวนกว่า 5,000 ไร่ ที่ถูกอุทยานใต้ร่มเย็นประกาศทับที่ทำกิน
      
       จากกรณีนายโสภณ ดีหนู อายุ 70 ปี พร้อม น.ส.ภัณฑิลา ดีหนู อายุ 40 ปี ชาวสวนยาง 2 พ่อลูก ที่อาศัยอยู่ที่ หมู่ที่ 17 บ้านสวนกล้วย ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชน ว่า ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานใต้ร่มเย็นจำนวนหนึ่งบุกเข้าตัดโค่นต้นยางพาราที่มีอายุกว่า 7 ปี จำนวนกว่า 500 ต้น ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ที่ดินดังกล่าวได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2505 โดยมีเอกสารการเสียภาษีที่ดินกับทางอำเภอยืนยัน แต่ทางอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นได้ประกาศพื้นที่ทับพื้นที่การเกษตรหมู่ที่ 17 จำนวน 5,000 กว่าไร่ ส่งผลให้ประชาชนกว่า 300 ครัวเรือนเดือดร้อนหนักมาตั้งแต่ปี 2534 ชาวบ้านได้รวมตัวต่อสู้เรียกร้องให้ภาครัฐลงมาแก้ปัญหาแต่เรื่องไม่คืบหน้า
      
       ความคืบหน้าล่าสุด เรื่องทราบถึงนายมนตรี เพชรขุ้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ส่งนายสมบูรณ์ ทองพัฒน์ ทนายความประจำตัว และเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ โดยพบกับชาวบ้านที่ศาลาประชุมบ้านสวนกล้วย หมู่ที่ 17 โดยมีชาวบ้านกว่า 300 ครัวเรือนนำเอกสารที่สำคัญเข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือดำเนินการทางด้านกฎหมาย นำที่ดินทำกินที่ถูกทางการประกาศทับกลับมาหากินได้ตามปกติ ซึ่งชาวบ้านจำนวนนับ 10 รายต่างระบุว่า ต้นยางพาราที่หมดอายุไม่สามารถตัดโค่นเพื่อดำเนินการปลูกใหม่ ทั้งที่กองทุนสวนยางได้อนุมัติทุนสนับสนุนแล้วก็ตาม บางรายนำเอกสารทางหน่วยงานด้านการเกษตรมายืนยันว่า พื้นที่อยู่นอกเขตอุทยานก็ตาม
      
       หลังจากรับเรื่องร้องเรียนแล้ว นายสมบูรณ์ ได้สรุปในเบื้องต้นว่า จะรวบรวมพยานหลักฐานที่สำคัญต่างๆ พร้อมนำเรื่องเข้าสภาทนายความ ภาค 8 เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้คุ้มครองสิทธิ และเพิกถอนการประกาศทับที่ดินทำกินทั้งหมด
      
       นายสุทิน อินทร์คง อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 17 ได้กล่าวว่า ทางชาวบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เวียงสระ อ.บ้านนาสาร และ อ.กาญจดิษฐ์ ที่ถูกทางการประกาศทับที่ดินทำกินจำนวน 28,770 ไร่ ได้รวมตัวเป็นเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เรียกร้องให้ภาครัฐเพิกถอนที่ดินทั้งหมด แต่ยังไม่มีความคืบหน้า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 กลุ่มเครือข่ายฯ ได้เข้าร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการพิสูจน์สิทธิ การครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า เรื่องการขอตัดโค่นไม้ยางที่หมดสภาพ และปลูกแทนใหม่ รวมทั้งการเพิกถอนพื้นที่ทับซ้อนที่ทำกินของประชาชน ต่อนายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี
      
       จนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีคำสั่งที่ 2318/2555 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 แต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อแก้ไขปัญหาราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น อำเภอบ้านนาสาร อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอเวียงสระ พร้อมมีคำสั่งขอให้ระงับการตัดฟันรื้อถอนผลอาสินของราษฎรในพื้นที่ทับซ้อนการประกาศเขตอุทยานออกไปก่อน รอจนกว่าการพิสูจน์การครอบครองที่ดินที่ตกค้างให้แล้วเสร็จ แต่ทางเจ้าหน้าที่อุทยานได้ดำเนินการตัดทำลายพืชผลอาสินอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่ามีอำนาจพิเศษ โดยไม่สนใจคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่อย่างใด
      
       ด้านนายนิคม ดำกุล ประธานเครือข่ายฯ ได้กล่าวว่า การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2534 เป็นการประกาศที่ไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนที่อยู่อาศัยมาก่อน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 โดยมีเอกสารอ้างอิง ประวัติหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการทับซ้อนบนที่ดินทำกินของราษฎร ได้สร้างความเดือดร้อนให้ถึง 3 อำเภอ 58 หมู่บ้าน ซึ่งราษฎรได้รวมตัวกันเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2546 ในการประชุมของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2546 ระเบียบวาระที่ 4.4 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานบางส่วนที่ทับซ้อนที่ดินทำกินของราษฎร ประมาณ 28,770 ไร่ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาประกาศเพิกถอน แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ซ้ำยังถูกจับกุมดำเนินคดีราษฎรหลายรายในพื้นที่ อันเป็นการซ้ำเติมความเดื่อดร้อนทุกข์ยากให้ราษฎรเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง
ข้อมูลจาก.. ASTV Manager ภาคใต้

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ฯ เดินหน้ายึดไม้เถื่อนเกือบ 2 ล้านบาท ระดมปิดล้อมแก๊งมอดไม้




จังหวัดสุราษฎร์ฯ เดินหน้ายึดไม้เถื่อนในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงเพิ่มอีกจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นไม้หลุมพอแผ่นใหญ่ มูลค่าเกือบ 2 ล้านบาท เจ้าหน้าที่เร่งระดมกำลังปิดล้อมจับกุมแก๊งมอดไม้ที่คาดว่ายังกบดานอยู่ในเขตอุทยานฯ
                  จากกรณี นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง หมู่ที่ 16 บ้านบางไต ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 4 คน พร้อมเครื่องเลื่อยยนต์ และอุปกรณ์ตัดไม้จำนวนหนึ่ง
                ล่าสุด วันนี้ (10 ม.ค.) นายถาวร พรหมฉิม ป้องกันจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมนายจงรัก ทรงรัตน์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำเจ้าหน้าที่กำลังผสมเข้าตรวจสอบพื้นที่เป็นวันที่ 2 พบมีการแปรูรูปไม้หวงห้าม และเตรียมขนย้ายออกจากพื้นที่ จำนวน 3 จุด โดยจุดที่ 1 พบการแปรรูปไม้หลุมพอขนาดใหญ่ กลางสวนยางพารา มีหน้ากว้างตั้งแต่ 80-150 เซนติเมตรยาว หนา 6 นิ้ว ยาว 4-8 เมตร พร้อมที่จะนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ จำนวน 29 แผ่น คิดเป็นปริมาตร 13 ลูกบาศก์เมตร
                 จุดที่ 2 ห่างจากจุดแรกประมาณ 400 เมตร พบต้นไม้ตะเคียนทรายขนาดใหญ่อายุกว่า 300 ปี ถูกตัดโค่นทำการแปรรูปขนาดต่างๆ จำนวน 155 แผ่น คิดเป็นปริมาตร 5.60 ลูกบาศก์เมตร ส่วนจุดที่ 3 ห่างจากจุดที่ 1 ไป 4 กิโลเมตร พบไม้หลุมพอแปรรูปขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณ 90-150 เซนติเมตร ยาว 4-6 เมตร จำนวนกว่า 20 แผ่น ถูกลำเลียงมาตามลำน้ำคลองยัน ในเบื้องต้นไม้ที่ยึดได้เจ้าหน้าที่คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2 ล้านบาท ซึ่งขณะเข้าทำการตรวจยึดไม้ไม่พบผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่คาดว่ายังคงหลบหนีอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง
                นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี สั่งระดมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน พร้อมอาวุธครบมือ จำนวน 30 นาย เข้าทำการไล่ล่าจับกุมตัวมาดำเนินคดี แต่การติดตามค่อนข้างจะอยากลำบากเนื่องจากพื้นที่อุทยานฯ เป็นป่าเขาที่รกชัฏ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์