วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

หอฯไทยเสนอเชื่อมคมนาคมภาคใต้ เสริมท่องเที่ยว/เศรษฐกิจ ครม.สัญจรที่ภูเก็ต

          หอการค้าไทยวางกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ ผนึกกำลังส่งเสริมภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว เชื่อมการคมนาคมภาคใต้ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน สู่ ครม.สัญจร ที่ภูเก็ต 19-20 มี.ค.นี้
      
       คณะกรรมการหอการค้าไทย จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ โดยมีประธานหอการค้า และคณะกรรมการหอการค้าไทยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เข้าประชุมที่โรงแรมวังใต้ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเร็วๆนี้
      
       โดยประเด็นหลักที่ได้หารือเน้นไปที่การเชื่อมโยงการพัฒนาภาค ธุรกิจการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงการพัฒนาระบบไอที.รองรับการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงกับภาครัฐ
      
       นายสมกิจ อนันตเมฆ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อวางแผนการพัฒนาภาคเศรษฐกิจพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ และนำประเด็นจากการประชุมเสนอ ครม.สัญจร ภาคใต้ ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค.2555 นี้
      
       วางใต้ล่างเด่นเรื่องเกษตร-ใต้บนท่องเที่ยว
      
       โดยที่ประชุมได้วางกรอบการพัฒนาหลักไว้ 3 ด้านหลัก คือ ฐานการผลิตและแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร ฐานการผลิตอาหารทะเลแปรรูป และศูนย์กลางการท่องเที่ยวทะเล และชั้นนำของโลก รวมทั้งเป็นประตูการค้าและการเชื่อมโยงประเทศทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก เนื่องจากได้มีพื้นที่เปิดริมฝั่งทะเลทั้งสองด้าน สามารถเชื่อมโยงประเทศต่างๆได้
      
       ทั้งนี้เนื่องจาก ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้มีความหลากหลาย ทั้งการเกษตรและท่องเที่ยวทางทะเลและบนบก โดยกำหนดให้พื้นที่ชายแดนใต้พัฒนาด้านการเกษตร ด้านยางพารา ที่ จ.สงขลา และ จ.สตูล เน้นอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยส่งออกที่ จ.สงขลา ผ่านด่านสะเดา ส่วนการท่องเที่ยวเน้นที่หาดใหญ่ และ จ.สตูล ซึ่งเน้นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล ส่วน จ.ปัตตานีและสตูลเป็นแหล่งท่องเที่ยวรองทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ทั้งนี้ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของความไม่สงบที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ
      
       ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามันและอ่าวไทยแหล่งท่องเที่ยวหลักและเป็นศูนย์ กลางหลักของอ่าวไทย คือ เกาะสมุย ส่วน จ.ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก ภาคเกษตรคือเมืองปาล์มได้แก่ จ.กระบี่ ,สุราษฎร์ธานี ส่วนยางพาราความเป็นเมืองยางคือ จ.ตรัง และจ.สุราษฎร์ธานีที่มีศักยภาพทางด้านโรงงานอุตสาหกรรม
           เสนอครม.พัฒนาคมนาคมเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน
      
       นอกจากนี้ที่ประชุมได้กำหนดประเด็นในการนำเสนอ ครม.สัญจร ที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 19-20 มี.ค. 2555 โดยในที่ประชุมระบุว่า เรื่อง ของรถไฟรางคู่ อาจจะไม่ต้องกล่าวถึงเหมือนที่ผ่านมาเพียงแต่พัฒนาระบบการขนส่งที่มีอยู่ แล้วให้มีประสิทธิภาพ เพียงพอกับความต้องการ การสร้างด่านที่สะเดา จ.สงขลา ถนนและมอเตอร์เวย์ เริ่มจากนิคมอุตสาหกรรมฉลุงมาถึงด่านสะเดา ระยะทาง 42 กม.งบประมาณกว่า 1 หมื่น 4 พันล้าน ,แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งเป็นเมืองแห่งฮาลาลฟู้ดของพื้นที่ชายแดนใต้ขอให้เป็นไฮไลน์ของกลุ่มชายแดนใต้ นอกจากนั้นเน้นการจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสมดุลกับการรองรับ เศรษฐกิจอาเซียน
      
       ขณะเดียวกันจะมีการนำเสนอเรื่องท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่จังหวัดชายแดน ภาคใต้ โดยเฉพาะที่ จ.สตูล ที่มีความพร้อมในการรองรับการส่งออกทั้งภาคใต้ ซึ่งไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีความเป็นไปได้สูงสามารถลดต้นทุนการส่งออก ทางบกได้มหาศาล
      
       สำหรับฝั่งทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ในที่ประชุมนำเสนอเรื่องของ เส้นทางการคมนาคม ที่ต้องการถนนสี่เลนส์สาย 41 ให้ถึงชายแดนใต้ เริ่มเส้นทางจาก จ.ชุมพร-สตูล ขณะที่ฝั่งอันดามันเริ่มจากชุมพร -ระนอง-ตะกั่วป่า -โคกกลอย จ.พังงา รองรับสนามบินนานาชาติภูเก็ต และแหล่งท่องเที่ยวหลักของอันดามันต่อเนื่องมาจนถึง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่อ่าวไทย ถนนสี่เลนส์ยังสามรถรองรับเส้นทางท่องเที่ยวและเกษตรตลอดสาย และทางรถไฟบ้านนาเดิม-ท่านุ่น (เปลี่ยนจากคีรีรัฐ-ท่านุ่น) ซึ่งโครงการดังกล่าวนำเสนอมาร่วม 20 ปีแล้ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจาก ครม. เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่ทำรายได้ได้มากที่สุดของประเทศ แต่ระบบการขนส่งแย่ที่สุดในประเทศ
      
       ส่วนฝั่งอ่าวไทยนั้น ขอให้มีการทบทวนมอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง โครงการเซ้าเทิร์นซีบอร์ด ต้องการความเป็นตลาดกลางยางพาราโลก ขอให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย ทบทวนเส้นทางการคมนาคมให้มีความพร้อม เส้นทางสายเอเชียและเส้นทางเชื่อมของ 2 ฝั่งทะเลระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ให้ความสำคัญด้านการเกษตรให้มีโครงการเข้ามาสนับสนุนยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมทั้งการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง แหล่งปลูกข้าว(พื้นที่ จ.พัทลุงและนครศรีธรรมราช) รวมทั้งจัดแผนการให้ความรู้การพัฒนาด้านการเกษตรเพิ่มมูลค่าผลผลิต

ข้อมูลจาก...ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น