วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โรงพยาบาลสุราษฎร์ฯ ได้งบกว่า 500 ล้าน ขยายอาคารรักษาผู้ป่วย



โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ได้งบกว่า 500 ล้านบาท ขยายอาคารรักษาผู้ป่วย หลังก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤตคนไข้ล้นโรงพยาบาล ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนัก งบประมาณไม่เพียงพอ
      
       
นายโสภณ เพชรสว่าง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารรังสีวินิจฉัย รักษา ชันสูตร คลอด ผ่าตัด ผู้ป่ายหนัก ศูนย์โรคหัวใจ และมะเร็ง 7 ชั้น โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ซึ่งอาคารดังกล่าวก่อสร้างด้วยงบประมาณ 540 ล้านบาท
      
       
นายแพทย์อดิเกียรติ เอี่ยมวรนิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เป็นโรงพยาบาลที่มีโครงสร้างเทียบเท่าโรงพยาบาลทั่วไป รองรับผู้ป่วยใน 500 เตียง ผู้ป่วยนอก 1,000 คนต่อวัน แต่ปัจจุบัน กระทรวงสาธารสุขมอบหมายให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 800 เตียง มีผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 2,000 คนต่อวัน เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายระบบบริการสุขภาพ รับผิดชอบประชากรในเขตภาคใต้ตอนบน 5.2 ล้านคน และเป็นศูนย์บริการตติยภูมิขั้นสูง คือ ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์มะเร็ง ศูนย์อุบัติเหตุ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ศูนย์ทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤต และเป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก มีภารกิจผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
      
       
จากพันธกิจที่รับผิดชอบดังกล่าว จึงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเข้าสู่ขั้นวิกฤต เกิดปัญหาความแออัดสะสม ปัญหาโครงสร้างของโรงพยาบาลไม่เหมาะสม ทำให้ไม่สามารถรองรับกับพันธกิจที่ได้รับมอบหมายที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา อันมีผลกระทบทั้งองค์กร ผู้รับบริการ และบุคลากรในการปฏิบัติงาน องค์กรถูกร้องเรียน ผู้รับบริการได้รับบริการที่ล่าช้า เนื่องจากถูกกำจัดด้วยพื้นที่ที่รองรับการให้บริการ บุคลากรปฏิบัติงานได้ไม่เต็มศักยภาพ ด้านสถานภาพทางการเงินของโรงพยาบาลส่วนใหญ่ได้จากการเหมาจ่ายรายหัวของประชากร จึงไม่เพียงพอที่จะขยายอาคารสถานที่
      
       
ปัจจุบัน โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคมะเร็ง และการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เป็นสาเหตุระดับต้นๆ ของประชากรที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ด้วยสภาพการณ์ที่เสริมความรุนแรงของโรค จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมชนบทสู่สังคมเมือง การแข่งขันทางธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความเครียด ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม มีวัฒนธรรมในการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น ทำให้อุบัติการณ์ของหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุก็ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต และความพิการ และยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรงเป็นอันดับ 1 มาตลอด
      
       
ดังนั้น โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จึงต้องวางแผนการพัฒนาด้านกายภาพที่เป็นรูปธรรม พร้อมนำไปสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับการขยายตัวในการบริการทางสาธารณสุข การเรียน การสอน การวิจัย การพัฒนา และการบริการทางวิชาการที่เน้นการสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เป็นเลิศในภาคใต้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น